ความลับของลมหายใจ

ความคิดเห็น · 4491 ยอดเข้าชม

ใครเล่าจะรู้ว่า ยาอายุวัฒนะ ยาบรรเทาความเจ็บปวดสุดยอดแห่งเครื่องมือดับทุกข์ และหนึ่งในยารักษาโรคดี

"ลมหายใจ" คือสิ่งมหัศจรรย์ใกล้ตัวมนุษย์ที่ถูกมองข้ามมากที่สุด ทั้ง ๆ ที่ "การหายใจอย่างถูกต้อง" คือรากฐานสำคัญของศาสตร์แห่งสมาธิทุกรูปแบบ และศาสตร์แห่งโยคะทุกประเภท รวมทั้งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของจักรวาลอีกด้วย แม้แต่ศาสตร์แห่งพลังและการบำบัดโรคทางจีนทุกแขนงก็ให้ความสำคัญกับพลังชีวิตที่เรียกว่า "พลังชี่" เป็นอย่างมาก ซึ่งแท้จิรงแล้วคำว่า "ชี่" (Qi) ก็แปลว่า "ลมหายใจ" นั่นเอง

ความลับอันมหัศจรรย์ของลมหายใจสามารถแจกแจงออกมาได้เป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

1. ลมหายใจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดอายุขัยของเรา

หากลองสังเกตสัตว์ที่มีอายุสั้น เช่น หนู ซึ่งมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี จะพบว่า หนูหายใจเข้าและออกถึง 90 ครั้งต่อนาที และมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 400 ครั้งต่อนาที ในขณะที่เต่าซึ่งมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 120 ปี จะหายใจเข้าและออกเพียง 4-6 ครั้งต่อนาที และมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 10-20 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น และหากเราลองจ้องมองพุงของสุนัขหรือแมวที่บ้าน (ซึ่งเป็นกิจการยามว่างของผม) เราก็จะพบว่า มันมีอัตราการหายใจที่เร็วและถี่กว่าเรามาก ซึ่งแน่นอนว่า พวกมันก็มีอายุขัยสั้นกว่าคนเรามากเช่นกัน

ลมหายใจมีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเต้นของหัวใจครับ ยิ่งเราหายใจช้า ลึก และยาวมากเท่าไร อัตราการเต้นของหัวใจจะยิ่งมีจังหวะที่ช้าและสม่ำเสมอมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้เรามีอายุที่ยืนยาวขึ้นและเป็นโรคต่างๆ น้อยลง (ดังที่จะนำเสนอต่อไปในข้อที่ 2)

มีงานวิจัยที่น่าสนใจพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบทุกชนิด (รวมทั้งมนุษย์) มีขีดจำกัดของการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านครั้งในชีวิต ฉะนั้นเมื่อหัวใจเต้นเกิน 1,000 ล้านครั้ง สัตว์ชนิดนั้นก็จะใกล้ถึงวันตายตามอายุขัย ซึ่งไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะหัวใจที่เต้นเร็วจากการหายใจตื้นและถี่อยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ต่างจากเครื่องจักรที่ต้องทำงานหนักอยู่เสมอ ย่อมส่งผลให้เกิดความเสื่อม และผุพังเร็ว และมีอายุการใช้งานที่สั้นลงกว่าเครื่องจักรที่ได้รับการดูแลอย่างดีและไม่ถูกใช้งานอย่างหักโหม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายใจเร็วที่สุดในโลกคือ หนูชรูว์ (Shrew) ซึ่งหายใจถี่ถึง 170 ครั้งต่อนาที นับว่าถี่กว่ามนุษย์ ผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยถึง 8 เท่า และหัวใจของหนูชูว์เต้นเร็วถึง 1,200 ครั้งต่อนาที! ซึ่งแน่นอนว่า หนูชรูว์เป็นสัตว์ที่มีอายุขัยสั้นเพียงไม่ถึง 2 ปีเท่านั้น

2. การหายใจอย่างถูกต้องสามารถช่วยป้องกันและเยียวยารักษาโรคร้ายได้สารพัด อาทิเช่น

2.1 โรคไมเกรน ผู้ป่วยโรคไมเกรนจะมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ซึ่งอาการดังกล่าวอาจได้รับการบรรเทา หรือรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฝึกหายใจให้ลึก ยาว และละเอียดขึ้นโดยท่านโกเอ็นก้า (S. N. Goenka) อาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก หายขาดจากโรคไมเกรนด้วยการฝึกอานาปานสติ (ฝึกสติโดยใช้ลมหายใจ) ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีแพทย์ คนไหนหรือยาขนานใดสามารถช่วยท่านได้เลย แม้ว่าท่านจะได้ไปพบแพทย์ที่ได้ชื่อว่ามีชื่อเสียงที่สุดในโลกแล้วก็ตาม

2.2 โรคหัวใจและโรคความดัน การหายใจลึกและข้าสามารถลดความดันโลหิตลงได้อย่างเห็นผลทันตา อีกทั้งในยามที่ผู้ป่วยมีอาการโรคหัวใจกำเริบ การหายใจลึกๆ ก็สามารถนำสติกลับมาจดจ่ออยู่ที่ร่างกายและปัจจุบันขณะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.3 โรคเครียดเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมามากมาย สามารถเยียวยารักษาได้ด้วยการฝึกหายใจอย่างถูกวิธี เพราะอันที่จริง 90 เปอร์เซ็นต์ของความเครียดทั้งหมดในชีวิตเกิดจากความห่วงกังวลถึงอนาคตหรือหมกมุ่นอยู่กับอดีต ดังนั้นการนำจิต และความคิดกลับมาอยู่กับลมหายใจที่ลึกและละเอียดในปัจจุบัน จะสามารถช่วยลดความเครียดได้อย่างชะงัด
นอกจากนั้นจะสังเกตได้ว่า เวลาเราเครียดหรือนอนไม่พอหัวใจของเราจะเต้นไม่เป็นจังหวะ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายของเรากำลังทำงานบกพร่อง ภูมิคุ้มกันลดต่ำ และสารความเครียดที่ชื่อ "คอร์ติซอล" (cortisol) กำลังออกอาละวาดในกระแสเลือดของเรา ทั้งนี้การนั่งสงบสติอารมณ์และฝึกหายใจให้ลึกและยาวเพียง 2-3 นาที จะช่วยปรับหัวใจให้กลับมาเต้นในจังหวะที่สม่ำเสมอมากขึ้นได้ทันที

ทั้งนี้ยังมีอีกหลายโรคที่สามารถบรรเทา เยียวยา หรือแม้แต่รักษาได้ด้วยการฝึกหายใจอย่างถูกวิธี เช่น โรคลมบ้าหมู โรคหอบหืด โรคซึมเศร้า และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งผมจะลงรายละเอียดในข้อต่อไป....

3. ลมหายใจเป็น "แม่นมของสมอง"

สมองของมนุษย์ทุกคนบริโภคออกซิเจนและน้ำตาลกลูโคสเป็นอาหาร ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนออกซิเจนและน้ำตาลกลูโคสก็คือ อากาศที่เราหายใจเข้าปอดไปนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าหากเราลองกลั้นหายใจนานๆ (ซึ่งผมไม่แนะนำให้บ่อยๆ นะครับ) เราจะเริ่มรู้ปวดหัว นั่นก็เพราะหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดประสิทธิภาพการทำงานของสมองเรา ก็คือปริมาณของออกซิเจนที่มันได้รับนั่นเอง

เซลล์สมองของคนที่ขาดอากาศหายใจนานเกิน 3 นาทีจะเริ่มฝ่อและตาย ส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมหรือความทรงจำสั้น และหากสมองขาดอากาศนานเกิน 6 นาที แม้เจ้าของสมองจะไม่ตาย เขาก็มักจะอยู่ในสภาพโคม่า (คือเป็นผักหรือเป็นเจ้าชาย-เจ้าหญิงนิทรา) ไปตลอดกาล

ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร กะพริบตา การเคี้ยว การคิด ฯลฯ ดังนั้น นอกจากการหายใจอย่างถูกต้องจะช่วยบำรุงสมอง รักษาความทรงจำ และชะลอหรือป้องกันโรคอัลไซเมอร์แล้ว มันยังทำให้เราสามารถคิดวางแผนและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไอเดียใหม่ ๆ มาขึ้นแก้ปัญหาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

4. การหายใจอย่างถูกวิธี ทำให้คนทายอายุเราผิด !

เคยสังเกตไหมครับว่าคนที่ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ หรือพระอาจารย์ที่ปฏิบัติปัสสนากรรมฐานเป็นประจำแทบทกรูปจะมีใบหน้าที่ดูสดใส และอ่อนกว่าวัย โดยไม่ต้องพึ่งมีดหมอหรือง้อศัลยกรรมแต่อย่างใดในทางตรงกันข้าม คนที่เครียดบ่อยและหงุดหงิดอยู่เสมอจะมีใบหน้าที่หมองคล้ำ เหี่ยวย่น และมีตีนแร้ง (ร้ายกว่าตีนกา !) ทั่วใบหน้า ส่งผลให้ต้องสรรหาสารพัดวิธีที่จะลบริ้วรอยและดึงหน้าให้เด้งตึงจนแค่ยักคิ้วขาก็แทบจะกระตุกตามอยู่แล้ว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ที่นั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอมีใบหน้าอ่อนกว่าวัย ก็เพราะพวกเขาได้มีโอกาสฝึกหายใจให้ลึก ยาวละเอียดบ่อยครั้งนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสงบสุขในใจ และลดสารความเครียดที่เรียกว่า "คอร์ติซอล" (อันเป็นสาเหตุหลักของความแก่ชราก่อนวัยอันควร) แล้ว การหายใจอย่างเต็มปอดยังช่วยฟอกเลือดที่นำพาออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของใบหน้าอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ทำให้ใบหน้าดูมีน้ำมีนวล เต่งตึงสดใส อ่อนกว่าวัย และสุดท้ายเลือดเหล่านั้นก็ยังช่วยขับสารพิษตกค้างต่าง ๆ (detox) ออกจากอวัยวะทุกส่วนของร่างกายและบนใบหน้าได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย
สรุปแล้วเคล็ดลับอายุยืน หน้าใส สมองไว และใจเป็นสุขโดยที่ไม่ต้องเสียเงินสักสตางค์เดียวก็คือ การฝึกหายใจให้ลึก ยาว และละเอียดมากที่สุดนั่นเอง

ร่างกายของเราขับของเสียจากการเผาผลาญพลังงาน (metabolic waste) ออกทุก ๆ วันจากหลากหลายช่องทาง เช่น 3% ทางอุจจาระ 8% ทางปัสสาวะ 19% ทางเหงื่อ ฯลฯ แต่สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือ ร่างกายของเราขับของเสียจากการเผาผลาญพลังงานถึง 70% ทางลมหายใจ ! ดังนั้นหากคุณคิดว่าการขับถ่ายเป็นเร่องสำคัญก็อย่าลืมความสำคัญของการฝึกหายใจให้ลึกและยาวด้วยเช่นกัน

5. ลมหายใจเป็นหนึ่งในตัวกำหนดระดับความสำเร็จในชีวิตของเรา

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าตัวการหลักสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จต่างกันคือ เรามีความสามารถในการควบคุมตัวเองที่ต่างกัน โดยคนที่มีความสามารถในการควบคุมตัวเองมากกว่าจะประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตมากกว่าเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น นักมวยชื่อดังอย่าง ไมค์ ไทสัน ที่โกรธจัดจนกัดหูคู่ต่อสู้ของเขาคือ อีแวนเตอร์ โฮลฟีลล์ จนแหว่ง ส่งผลให้ไทสันถูกปรับแพ้ และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ชีวิตรวมทั้งอาชีพของเขาก็อยู่ในขาลงตลอด ในขณะที่อีแวนเดอร์ โฮลิฟีลล์ ซึ่งอาจจะชกได้ไม่ดุดันเท่า กลับมีการงานที่รุ่งโรจน์และมีชีวิตที่รุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้

ตั้งแต่นักธุรกิจใหญ่ที่ตัดสินใจผิดอย่างมหันต์เพราะความ “โลภ” ตั้งแต่นักกีฬาที่พลาดท่าเพราะความ “โกรธ” ไปจนถึงพนักงานหรือข้าราชการทั่วไปที่จมปลักอยู่ในวงเวียนแห่งอบายมุข เพราะความ “หลง” ไม่ว่าเราจะทำงานอะไรเพื่อยังชีพ ความสามารถใน “การควบคุมตัวเอง” เป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่งที่จะกำหนดความสำเร็จของชีวิต ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือควบคุมตัวเองที่ทรงพลังที่สุดก็คือลมหายใจของเรานั่นเอง

6. "อากาศ" ส่งผลต่อ "อารมณ์" อย่างน่าอัศจรรย์

หลายคนคงเคยได้ยินคำแนะนำว่าเวลาตื่นเต้น โกรธ กลัว หรือประหม่าให้ลอง "สูดลมหายใจลึกๆ" ซึ่งคำแนะนำนี้มีพื้นฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์ เพราะการหายใจลึก ๆ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้ามากขึ้น ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ใช้ในการบริหารและควบคุมอารมณ์ต่างๆ กล่าวคือ การหายใจที่ลึกและยาวเพียงพอจะช่วยเพิ่ม "ขันติ" (ความอดทนต่อการกระทบของอารมณ์) และเพิ่มพลัง "สติ" ซึ่งเกิดจากการสับรางระบบของสมองจากส่วนที่คล้าย "สัตว์ป่า" (limbic) มาเป็นส่วนที่คล้าย "เทวดาในร่างมนุษย์" (neo-cortex)

จะสังเกตได้ว่าเวลาที่เราโกรธ กลัว ตกใจ เครียด หงุดหงิด กังวล หรือทุกข์ ลมหายใจของเราจะสั้นและตื้น แต่เวลาที่เรามีความสุข สงบ มีพลัง นิ่ง สุขุม มั่นใจ สบายใจ ลมหายใจของเราจะยาวและลึก ทั้งนี้สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ หากเราตั้งใจหายใจให้ยาวและลึกสัก 4-5 ครั้ง สมองของเราจะถูกหลอกว่าเรากำลังรู้สึกสบายใจ สุขุม และมีพลังเช่นกัน กระบวนการนี้เรียกว่าการทำ "Biofeedback" (การป้อนกลับทางชีวภาพ) โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ

เทคนิคการหายใจที่ดีคือ การหายใจอย่าง "ละเอียด" ซึ่งเป็นการหายใจให้ช้า ลึก และเบา โดยสูดลมหายใจเข้าจนสุดปอดให้หน้าท้องและหน้าอกพองตัวจนไม่สามารถพองต่อไปได้อีก แล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกยาว ๆ อย่างไม่รีบร้อนจนหมดทั้งปอดทำเท่านี้เพียง 3-4 ครั้งก็จะรู้สึกว่าร่างกายเริ่มเบา ใจเริ่มเย็น จิตเริ่มโล่ง และสมองเริ่มปลอดโปร่งขึ้นแล้ว

ถามว่าต้องทำและต้องฝึกบ่อยแค่ไหน คำตอบคือ "รู้ตัวเมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น" หรือทำทุกครั้งที่รู้สึกว่าจิตกำลังเริ่มตก คือเริ่มกลัว โกรธ กังวล เหนื่อย เครียด เบื่อ เซ็ง ท้อ ทุกข์ หรือลองทำก่อนรับโทรศัพท์ก็ได้ เช่น ลองสูดลมหายใจเข้าและออกลึกๆ สัก 1-2 ครั้งแล้วค่อยรับสายด้วยรอยยิ้มน้อยๆ หลายครั้งคนที่อยู่ปลายสายจะสัมผัสได้ถึงความเมตตา อ่อนโยน สงบ อบอุ่น และมีพลังของเรา

การฝึกลมปราณ (Pranayama) ตามศาสตร์ของโยคะแห่งประเทศอินเดียสามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยในที่นี้ผมจะนำเสนอ เฉพาะเทคนิคที่ทำได้ง่ายและใช้ได้ผลทันที เทคนิคแรกเรียกว่า “อนุโลมาวิโลมา” (Anuloma viloma) ซึ่งเป็นการหายใจสลับข้างจมูก

ขั้นแรกคือ ให้เราเอานิ้วโป้งปิดจมูกไว้ข้างหนึ่ง จากนั้นสูดหายใจลึกๆ ยาวๆ นับ 1-5 จากนั้นให้เราเปลี่ยนนิ้วมาปิดจมูกอีกข้างหนึ่งแล้วหายใจออกนับ 1-10 ตอนทำควรหลับตาและทำช้าๆ ไม่ต้องรีบนับแพทย์ทางเลือกหลายท่านแนะนำให้ใช้วิธ๊นี้ในการรักษาโรคเกรน เพราะการหายใจแบบนี้จะช่วยลดอาการปวดหัวได้อย่างดีเยี่ยม

เทคนิคที่สองเรียกว่า "อคนีปราณ" (Agni Pran) เป็นภาษาฮินดูแปลว่า "ลมหายใจแห่งไฟ" (Breath of Fire) โดยเทคนิคนี้อาศัยการหายใจให้สั้นที่สุด ลึกที่สุด และถี่ที่สุดติดต่อกัน 20 ครั้ง โดยให้หน้าท้องของเราพองและยุบอย่างเต็มที่ทุกครั้งที่หายใจเข้าและออก เมื่อทำเสร็จทั้ง 20 ครั้งจะรู้สึกมีพลังชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่ง่วงซึมไม่เหนื่อยหน่าย จึงไม่แปลกที่ "ลมหายใจแห่งไฟ" สามารถใช้แก้ความขี้เกียจและความเหนื่อยอ่อนได้อย่างดี

แหล่งที่มา:
หนังสือ Secret เรื่อง ความลับของลมหายใจ?????
เขียนโดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ความคิดเห็น